National Health Security Office (NHSO) Region 2 Phitsanulok
  • แสดงผลพื้นหลังสีดำตัวหนังสือสีขาว 
  • แสดงผลสีแบบปกติ 
  • แสดงผลพื้นหลังสีดำตัวหนังสือสีเหลือง 
  • larger 
  • default 
  • smaller 
  • เปลี่ยนการแสดงผล

    เปลี่ยนภาษา

ประชาสัมพันธ์

รองเลขาธิการ สปสช. นำสื่อมวลชน เยี่ยมชมการพัฒนาเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ จ.ตาก รับรู้สิทธิบัตรทอง และช่วยเหลือผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียนให้เข้าถึงสิทธิบัตรทอง

 วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานขยายเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ รับรู้ และคุ้มครองสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ของศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนและหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) จ.ตาก ณ บ้านเชียงแก้ว หมู่ 1 ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยมีนายพัฒน์สรรพ์ สุขสันต์คีรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สอง นางศิวะพร คงทรัพย์ ประธานศูนย์ประสานงานฯ/หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ มาตรา 50(5) จังหวัดตาก พร้อมด้วยผู้บริหารทีมงานสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) แม่สอง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แม่สอง ร่วมสนับสนุนการถ่ายทำสกู๊ปโทรทัศน์เผยแพร่ผลงานเด่นด้านการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพในพื้นที่เขต 2 พิษณุโลก

.
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การรับรู้และเข้าใจสิทธิบัตรทองของประชาชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขตามชุดสิทธิประโยชน์ที่กำหนดไว้ได้อย่างถูกต้อง โดยที่การสื่อสารประชาสัมพันธ์ไปถึงพี่น้องประชาชนในระดับพื้นที่ชุมชน ต้องอาศัยศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน หรือ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน มาตรา 50 (5) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ช่วยเผยแพร่สิทธิบัตรทอง และประสานช่วยเหลือกรณีประชาชนเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลแล้วมีปัญหาอุปสรรค โดยเฉพาะการทำงานในพื้นที่ห่างไกล ที่ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง ส่วนใหญ่ประชากรเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอ หรือ กะเหรี่ยง ทางศูนย์ประสานงานฯ/หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ จ.ตาก ได้เข้ามามีบทบาทขยายการรับรู้สิทธิบัตรทอง ให้กับชาวไทยภูเขาในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่มีบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก กว่า 100% ได้รับการลงทะเบียนสิทธิบัตรทอง 30 บาท อาจมีบางส่วนที่สถานะทางทะเบียนตกหล่น จำนวน 3 ครัวเรือน ทางศูนย์ประสานงานฯ/หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อคนไทยที่มีปัญหาสถานะเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ จะมีการประสานงานช่วยเหลือกลุ่มบุคคลเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สถานะเพื่อลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป
.
ด้านนางศิวะพร คงทรัพย์ ประธานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ/หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน มาตรา 50(5) จังหวัดตาก กล่าวถึงการทำหน้าที่ของเครือข่ายประชาชนว่า มีบทบาทในการให้ความรู้สิทธิบัตรทอง รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดตาก มีการทำงานร่วมกับ สปสช. สสส. และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ แต่ด้วยจังหวัดตากเป็นพื้นที่ชายแดน สภาพพื้นที่มีความห่างไกลอยู่บนภูเขาสูง มีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์สิทธิบัตรทอง ทางศูนย์ประสานงานฯ จึงพูดคุยกับแกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางสร้างการรับรู้สิทธิบัตรทองให้กับชาวไทยภูเขา ซึ่งถือเป็นคนไทยเช่นเดียวกันที่จะต้องได้รับบริการสาธารณสุขที่รัฐจัดให้โดยเสมอภาค นอกจากนี้ พร้อมที่จะสนับสนุนการประสานงานช่วยเหลือ ผู้ที่ยังไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร์ มีช่องทางเข้าสู่ระบบสวัสดิการของรัฐ และเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
.
ขณะที่ นายคุณากร ชาตรีวินิจทอง ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเชียงแก้ว หมู่ 1 ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กล่าวว่า ชาวไทยภูเขาในพื้นที่บ้านเชียงแก้ว หมู่ 1 รู้ว่าตนเองมีสิทธิรักษาพยาบาล 30 บาท กว่าร้อยละ 60 จากประชากรในหมู่บ้านจำนวน 1,000 กว่าคน หรือ 258 หลังคาเรือน แต่จะรู้ก็ต่อเมื่อไปรับการรักษาพยาบาล ไม่มีโอกาสเข้าถึงสื่อหรือข้อมูลความรู้สิทธิการรักษาพยาบาลจากช่องทางอื่น เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อยทั่วไปก็เข้ารับการรักษาที่ รพ.สต.แม่สอง หากไป รพ.ท่าสองยาง ระยะทางประมาณ 40 กม. ทางสัญจรเป็นภูเขาสูงต้องใช้เวลาเดินทาง 1 ชม. เสียค่าใช้จ่ายเป็นรถในการเดินทางไป-กลับ 100 บาท ก็เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ตามมา นอกจากนี้ พบว่าผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียน จำนวน 3 ครัวเรือน ทั้งที่เป็นชาวไทยภูเขาไม่ได้แจ้งเกิดบุตร และชาวไทยดั้งเดิมที่ไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน ไม่สามารถลงทะเบียนสิทธิบัตรทอง หรือ 30 บาทได้ ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเอง เมื่อได้รับทราบว่า สปสช. มีแนวทางที่จะประสานช่วยเหลือให้บุคคลเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิสถานะ ก็เห็นเป็นโอกาสที่จะช่วยให้ลูกบ้านของตนได้รับสิทธิในฐานะที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทยเช่นกัน
.
สำหรับบทบาทหน้าที่ของศูนย์ประสานงานฯ/หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ ดำเนินงานร่วมกับ สปสช. ในการให้ความรู้สิทธิประโยชน์บัตรทองหรือ 30 บาท รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคในการรับบริการสาธารณสุข และมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้านอื่นๆ โดยที่ศูนย์ประสานงานฯ จ.ตาก มีส่วนร่วมประสานผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียนในกลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากด้วย กิจกรรมครั้งนี้มีการจัดเวทีให้ความรู้สิทธิบัตรทอง การตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น โดยสสอ.ท่าสองยาง และรพ.สต.ท่าสองยาง